โรงเรียนวัดเวฬุวัน (Wat Weruwan High School) เป็นโรงเรียนการกุศลของวัดใน พระพุทธศาสนา ประเภทสามัญศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๑- ๖) ได้รับอนุญาตจัดตั้งโรงเรียน จากสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากาฬสินธุ์ เขต ๑ เมื่อวันที่ ๑ เดือนพฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๕๕ ใบอนุญาตเลขที่ ศธ ๐๔๐๒๐/๒/๒๕๕๕ โดยในปีการศึกษา ๒๕๕๕ มีนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ จำนวน ๓๘ คน มีผู้บริหาร ครูและบุคลากรของโรงเรียน จำนวน ๑๒ คน โรงเรียนตั้งอยู่ในพื้นที่ของวัดเวฬุวัน เลขที่ ๕๘ หมู่ ๒ ตำบลนิคม อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ๔๖๑๔๐ มีเนื้อที่ ๕ ไร่ ๑ งาน ๕๖ ตารางวา

โรงเรียนวัดเวฬุวัน มีหมู่บ้านในเขตบริการ ๗ หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน ๘๖๔ ครัวเรือน มีประชากรประมาณ ๓,๐๒๓ คน แบ่งเป็น ประชากรชายประมาณ ๑,๕๕๘ คน ประชากรหญิง ประมาณ ๑,๔๖๕ คน ประชากรวัยเรียนประมาณ ๖๑๔ คน ระยะทางจากโรงเรียนถึงอำเภอสหัสขันธ์ ๔ กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ๒๗ กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสาร และรถจักรยานยนต์

เนื่องจากโรงเรียนวัดเวฬุวัน และชุมชนโดยรอบ ตั้งอยู่ในเขตชนบท ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกร โดยยึดอาชีพ ทำนา ทำไร่และทำสวนเพื่อการยังชีพ และมีฐานะทางครอบครัวยากจน เด็กนักเรียนต้องช่วยผู้ปกครองประกอบอาชีพเกษตรกรรมในระหว่างเรียน เมื่อจบการศึกษาภาคบังคับแล้ว จะประกอบอาชีพสืบทอดจากครอบครัว คืออาชีพเกษตรกร และรับจ้างอื่นๆ

ชาวบ้านในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ เข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตามประเพณีบุญต่างๆ ยึดมั่นในวัฒนธรรม จารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ระดับการศึกษาของคนในชุมชน ส่วนใหญ่จบการศึกษาภาคบังคับ คือ ป.๔ ป.๖ และ ม.๓ มีรายได้ต่อปีครัวเรือนละประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้น

ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ คณะกรรมการวัดเวฬุวันจึงจัดตั้งโรงเรียนการกุศลวัดเวฬุวันขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรธิดา และช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง นอกจากนั้น นักเรียนยังได้รับการอบรมด้านคุณธรรมจริยธรรม และฝึกปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาทั้งในสถานศึกษาและในชีวิตประจำวัน โดยโรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง ให้สัมพันธ์และบูรณาการกับการดำเนินชีวิต

แนวคิดการจัดการศึกษา

ชุมชนมีความต้องการที่จะให้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษาเพื่อการกุศล เพราะจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และนักเรียน ยังได้รับการพัฒนาชีวิต ตามหลักไตรสิกขา โดย ฝึกปฏิบัติให้สัมพันธ์กับชีวิตจริง เช่นการรักษามารยาท การทำบุญตักบาตร การมีเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูล การฝึกสมาธิและการฝึกคิดวิเคราะห์ตามหลักโยนิโสมนสิการ ตลอดถึงการส่งเสริมการใช้ภาษาต่างประเทศในการสื่อสารเพื่อการศึกษาต่อและการปฏิบัติงาน รวมทั้งสร้างสัมพันธไมตรี กับชาติต่างๆในอาเซียนและประเทศอื่นๆ

ทางคณะกรรมการบริหารวัด กรรมการหมู่บ้าน จึงเห็นควรให้จัดตั้งโรงเรียนเพื่อการกุศลขึ้น เพื่อจัดการศึกษาฟรีแก่ชุมชน เช่น เสื้อผ้า ค่ารถ หนังสือเรียน และอุปกรณ์อื่นๆตามความจำเป็น เพื่อสนองตอบความต้องการของชุมชน หลายฝ่ายร่วมมือ พัฒนาศักยภาพเยาวชนในท้องถิ่น ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ควบคู่ คุณธรรม ภายใต้การจัดการศึกษาแบบ “ไตรสิกขาเพื่อพัฒนาผู้เรียน” และหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน หรือหลัก “บวร” ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน

โดยที่ พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทย คนไทยส่วนใหญ่ได้รับการอบรมบ่มเพาะด้านศีลธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลักคำสอนสำคัญคือหลักไตรสิกขา ซึ่งประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นหลักการพัฒนาคนที่สมบูรณ์ที่สุด สามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีพัฒนาการทั้งด้านกาย วาจา และจิตใจ สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข นอกจากหลักไตรสิกขาแล้ว โรงเรียนวัดเวฬุวันยังตระเหนักและเห็นความสำคัญของสังคมยุคใหม่ จึงใช้หลักการบริหารการศึกษา แบบอื่นๆที่สำคัญ มาเป็นหลักในการจัดการศึกษา ดังนี้

หลักที่ ๑ : ไตรสิกขา (Threefold Training) เป็นแนวทางการศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสนา เพื่อความก้าวหน้าและความสุขในชีวิตที่ยั่งยืน ตั้งแต่ระดับพื้นฐานคือศีล การควบคุมกายและวาจาให้เป็นปกติ ไม่ทำร้ายร่างกาย ตลอดจนทรัพย์สินของตนและคนอื่น ระดับกลาง คือ สมาธิ การฝึกใจให้มั่นคง แน่วแน่ต่อสิ่งที่ดีงาม เป็นตัวของตนเองลดความฟุ้งซ่านของจิตใจและสร้างพลังใจได้อย่างดี ทำให้จิตใจมีศักยภาพเพื่อจะเรียนรู้และ ควบคุมดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม จนถึงระดับสูงสุด คือ ปัญญา การรู้จักคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผล ติดตามทำนองครองธรรมและตามหลักความจริง จนสามารถแยกแยะสิ่งที่ควรไม่ควร สิ่งมีประโยชน์หรือไม่มี ประโยชน์ และถ้าได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นก็อาจสามารถชำระกิเลสออกจากจิตใจได้

หลักที่ ๒ : การบริหารจัดการแบบบูรณาการ (iBMS) เป็นระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ (integrated educational management system, iEMS) เป็นชุดขององค์ประกอบของการจัดการที่เชื่อมประสานปัจจัยรอบด้าน กระบวนการที่มีกลยุทธ์อันนำไปสู่ผลลัพธ์เข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดผลการเรียนรู้ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

หลักที่ ๓ : ๔ F การจัดหลักสูตรที่พัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการจัดหลักสูตรให้เหมาะสม กับความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคลซึ่งมีศักยภาพแตกต่างกัน ตามความถนัด ความสนใจ และความชอบของผู้เรียนแต่ละคน หรือเรียกว่า หลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียน (๔F) โดยยึดหลัก Fun Find Focus และ Fullfillment

หลักที่ ๔ : NET การพัฒนาทักษะการรู้สารสนเทศ ซึ่งเป็นทักษะการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีขั้นตอนการพัฒนาทักษะการรู้สารสนเทศคือการกำหนดภารกิจ การตรงจุดเข้าถึงแหล่ง การประเมินสารสนเทศ และการบูรณาการวิถีการใช้งาน

หลักที่ ๕ : บวร (๓ Participants) คือการร่วมมือกัน ๓ ฝ่าย ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนและชุมชน อย่างมีคุณภาพโดยมีวัดเป็นแกนกลางในการดำเนินงาน

จากหลักการสำคัญ ทั้ง ๕ หลัก มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณลักษณะผู้เรียนที่เป็นหัวใจและเป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษา ที่จะต้องพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุเป้าหมายตามคุณลักษณะที่ต้องการ โดยระบบการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษา เป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนองค์ประกอบต่าง ๆ อันได้แก่ หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน ชุมชนหรือผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ


กลับขึ้นบน^