1. ชื่อโครงการ
  2. โครงการจัดตั้งโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา ชื่อ "โรงเรียนวัดเวฬุวัน"

  3. ผู้จัดตั้งโครงการ
  4. ชื่อ พระครูสิทธิวราคม (นิคม นิคมวโร)
    ตำแหน่ง เจ้าอาวาสวัด เวฬุวัน,เจ้าคณะอำเภอสหัสขันธ์ (ธรรมยุต )
    สถานที่จัดตั้ง เลขที่ 58 หมู่ 2 บ้านตาดดงเค็ง ตำบลนิคม อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ รหัสไปรษณีย์ 46140 โทรศัพท์ 08-6450-8005, 08-1974-88201
    E-mail watwe_school@hotmail.com, konkomsan@yahoo.co.th
    Website www.weluwanlampao.com

  5. หลักการและเหตุผล
  6. โรงเรียนวัดเวฬุวัน ตั้งอยู่ตำบลนิคม อำเภอสหัสขันธ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ มีหมู่บ้านในเขตบริการ ๗ หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน 864 ครัวเรือน มีประชากรประมาณ ๓,๐๒๓ คน แบ่งเป็น ประชากรชายประมาณ ๑,๕๕๘ คน ประชากรหญิง ประมาณ ๑,๔๖๕ คน ประชากรวัยเรียนประมาณ ๖๑๔ คน ระยะทางจากโรงเรียนถึงอำเภอสหัสขันธ์ ๔ กิโลเมตร ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ๒๗ กิโลเมตร เดินทางโดยรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสาร และรถจักรยานยนต์

    ชาวบ้านในชุมชนนับถือศาสนาพุทธ เข้าร่วมกิจกรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างต่อเนื่องและปฏิบัติตามประเพณีบุญต่างๆ ยึดมั่นในวัฒนธรรม จารีตประเพณีอย่างเคร่งครัด ปฏิบัติตนเป็นพุทธศาสนิกชนที่ดี ระดับการศึกษาของคนในชุมชน ส่วนใหญ่จบการศึกษาภาคบังคับ คือ ป.๔ ป.๖ และ ม.๓ มีรายได้ต่อปีครัวเรือนละประมาณ ๒๕,๐๐๐ บาท ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตในยุคปัจจุบัน ซึ่งส่งผลต่อการส่งบุตรหลานเข้าเรียนในระดับที่สูงขึ้น

    ด้วยเหตุดังกล่าวมานี้ คณะกรรมการวัดเวฬุวันจึงจัดตั้งโรงเรียนการกุศลวัดเวฬุวันขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ปกครองประหยัดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการศึกษาของบุตรธิดา และช่วยให้เกิดความปลอดภัยในการเดินทาง นอกจากนั้น นักเรียนยังได้รับการอบรมด้านคุณธรรมจริยธรรม และฝึกปฏิบัติตามหลักไตรสิกขาทั้งในสถานศึกษาและในชีวิตประจำวัน โดยโรงเรียนส่งเสริมให้นักเรียนได้ปฏิบัติจริง ให้สัมพันธ์และบูรณาการกับการดำเนินชีวิต

    อาคารเรียนเสริม/ฝึกงาน   กว้าง  6  เมตร  ยาว  16  เมตร , 2 ห้องเรียน

    จากร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๔๒ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๕๒ หมวด ๒ มาตรา ๑๒ นอกเหนือจากรัฐ เอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้บุคคล ครอบครัว องค์กรชุมชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น มีสิทธิในการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน ทั้งนี้ ให้เป็นไปตามที่กำหนดในกฎกระทรวง และ มาตรา ๒๙ ให้สถานศึกษาร่วมกับบุคคล ครอบครัว ชุมชน องค์กรชุมชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เอกชน องค์กรเอกชน องค์กรวิชาชีพ สถาบันศาสนา สถานประกอบการและสถาบันสังคมอื่น ส่งเสริมความเข้มแข็งของชุมชนโดยจัดกระบวนการเรียนรู้ภายในชุมชน เพื่อให้ชุมชนมีการจัดการศึกษา มีการแสวงหาความรู้ ข้อมูล ข่าวสาร และรู้จักเลือกสรรภูมิปัญญาและวิทยาการต่างๆ เพื่อพัฒนาชุมชนให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการ รวมทั้งหาวิธีการสนับสนุนให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การพัฒนาระหว่างชุมชน

    อาคารห้องสมุด

    แนวคิดการจัดการศึกษา

    ชุมชน มีความต้องการที่จะให้วัดเป็นศูนย์กลางในการจัดการศึกษาเพื่อการกุศล เพราะจะช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย และนักเรียน ยังได้รับการพัฒนาชีวิต ตามหลักไตรสิกขา โดย ฝึกปฏิบัติให้สัมพันธ์กับชีวิตจริง เช่นการรักษามารยาท การทำบุญตักบาตร การมีเมตตาช่วยเหลือเกื้อกูล การฝึกสมาธิและการฝึกคิดวิเคราะห์ตามหลักโยนิโสมนสิการ ตลอดถึงการส่งเสริมการใช้ภาษาต่างประเทศในการสื่อสารเพื่อการศึกษาต่อและการปฏิบัติงาน รวมทั้งสร้างสัมพันธไมตรี กับชาติต่างๆในอาเซียนและประเทศอื่นๆ

    ทางคณะกรรมการบริหารวัด กรรมการหมู่บ้าน จึงเห็นควรให้จัดตั้งโรงเรียนเพื่อการกุศลขึ้น เพื่อจัดการศึกษาฟรีแก่ชุมชน เช่น เสื้อผ้า ค่ารถ หนังสือเรียน และอุปกรณ์อื่นๆตามความจำเป็น เพื่อสนองตอบความต้องการของชุมชน หลายฝ่ายร่วมมือ พัฒนาศักยภาพเยาวชนในท้องถิ่น ให้เติบโตอย่างมีคุณภาพ ควบคู่ คุณธรรม ภายใต้การจัดการศึกษาแบบ “ไตรสิกขาเพื่อพัฒนาผู้เรียน” และหลักการมีส่วนร่วมของชุมชน หรือหลัก “บวร” ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน

    โดยที่ พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาประจำชาติไทย คนไทยส่วนใหญ่ได้รับการอบรมบ่มเพาะด้านศีลธรรมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลักคำสอนสำคัญคือหลักไตรสิกขา ซึ่งประกอบด้วยศีล สมาธิ และปัญญา อันเป็นหลักการพัฒนาคนที่สมบูรณ์ที่สุด สามารถนำมาเป็นแนวทางในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนมีพัฒนาการทั้งด้านกาย วาจา และจิตใจ สามารถดำเนินชีวิตในสังคมได้อย่างมีความสุข นอกจากหลักไตรสิกขาแล้ว โรงเรียนวัดเวฬุวันยังตระเหนักและเห็นความสำคัญของสังคมยุคใหม่ จึงใช้หลักการบริหารการศึกษา แบบอื่นๆที่สำคัญ มาเป็นหลักในการจัดการศึกษา ดังนี้

    หลักที่ ๑ : ไตรสิกขา (Threefold Training) เป็นแนวทางการศึกษาเรียนรู้พระพุทธศาสนา เพื่อความก้าวหน้าและความสุขในชีวิตที่ยั่งยืน ตั้งแต่ระดับพื้นฐานคือศีล การควบคุมกายและวาจาให้เป็นปกติ ไม่ทำร้ายร่างกาย ตลอดจนทรัพย์สินของตนและคนอื่น ระดับกลาง คือ สมาธิ การฝึกใจให้มั่นคง แน่วแน่ต่อสิ่งที่ดีงาม เป็นตัวของตนเองลดความฟุ้งซ่านของจิตใจและสร้างพลังใจได้อย่างดี ทำให้จิตใจมีศักยภาพเพื่อจะเรียนรู้และควบคุมดำเนินชีวิตอย่างเหมาะสม จนถึงระดับสูงสุด คือ ปัญญา การรู้จักคิดวิเคราะห์อย่างเป็นเหตุเป็นผลติดตามทำนองครองธรรมและตามหลักความจริง จนสามารถแยกแยะสิ่งที่ควรไม่ควร สิ่งมีประโยชน์หรือไม่มีประโยชน์ และถ้าได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องและเข้มข้นก็อาจสามารถชำระกิเลสออกจากจิตใจได้

    หลักที่ ๒ : การบริหารจัดการแบบบูรณาการ (iBMS) เป็นระบบการบริหารจัดการศึกษาแบบบูรณาการ (integrated educational management system, iEMS) เป็นชุดขององค์ประกอบของการจัดการที่เชื่อมประสานปัจจัยรอบด้าน กระบวนการที่มีกลยุทธ์อันนำไปสู่ผลลัพธ์เข้าด้วยกัน เพื่อพัฒนาผู้เรียนให้เกิดผลการเรียนรู้ตามเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ และเกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประชาชน

    หลักที่ ๓ : ๔ F การจัดหลักสูตรที่พัฒนาผู้เรียนเป็นสำคัญ ซึ่งเป็นการจัดหลักสูตรให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้เรียนเป็นรายบุคคลซึ่งมีศักยภาพแตกต่างกัน ตามความถนัด ความสนใจ และความชอบของผู้เรียนแต่ละคน หรือเรียกว่า หลักสูตรเสริมสร้างศักยภาพของผู้เรียน (๔F) โดยยึดหลัก FUN Find Focus และ Fullfillment

    หลักที่ ๔ : NET การพัฒนาทักษะการรู้สารสนเทศ ซึ่งเป็นทักษะการเรียนรู้ที่สามารถนำไปใช้เพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต โดยมีขั้นตอนการพัฒนาทักษะการรู้สารสนเทศคือการกำหนดภารกิจ การตรงจุดเข้าถึงแหล่ง การประเมินสารสนเทศ และการบูรณาการวิถีการใช้งาน

    หลักที่ ๕ : บวร (๓ Participants) คือการร่วมมือกัน ๓ ฝ่าย ได้แก่ บ้าน วัด โรงเรียน ในการจัดการศึกษาเพื่อพัฒนาผู้เรียนและชุมชน อย่างมีคุณภาพโดยมีวัดเป็นแกนกลางในการดำเนินงาน

    จากหลักการสำคัญ ทั้ง ๕ หลัก มีความเกี่ยวข้องและสัมพันธ์กัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณลักษณะผู้เรียนที่เป็นหัวใจ และเป็นเป้าหมายสำคัญของการจัดการศึกษาที่จะต้องพัฒนาผู้เรียนให้บรรลุเป้าหมายตามคุณลักษณะที่ต้องการ โดยระบบการบริหารจัดการศึกษาของสถานศึกษา เป็นองค์ประกอบสำคัญในการขับเคลื่อนองค์ประกอบต่าง ๆ อันได้แก่ หลักสูตร การจัดการเรียนการสอน ชุมชนหรือผู้เกี่ยวข้องต่าง ๆ ให้ดำเนินการไปอย่างสอดคล้องและมีประสิทธิภาพ

  7. วัตถุประสงค์
    1. เพื่อจัดตั้งโรงเรียนการกุศลของวัดในพระพุทธศาสนา สนับสนุนการศึกษาของคนในชุมชน ให้มีความรู้คู่คุณธรรม โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
    2. เพื่อจัดการศึกษาให้สอดคล้องกับสังคม วัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นสากล
    3. เพื่อส่งเสริมให้เด็กด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค มีคุณภาพ ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน
  8. เป้าหมายของโครงการ

    ด้านปริมาณ

    1. เปิดทำการเรียนการสอนระดับมัธยมศึกษาตอนต้นและมัธยมศึกษาตอนปลาย (ม.๑-๖) โดยปีการศึกษา ๒๕๕๕ เปิดรับนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ทั้งชาย-หญิง จำนวน ๘๐ คน (๒ ห้องเรียน จำนวน ๖๐ คน และเมื่อจัดการศึกษาครบตามชั้นปีการศึกษา ในปีการศึกษา ๒๕๖๐ จะมีนักเรียนประมาณ ๓๖๐ คน

    ด้านคุณภาพ

    1. นักเรียนด้อยโอกาสในเขตพื้นที่ตำบลนิคม ได้รับการศึกษาต่อจนจบการศึกษาภาคบังคับตามหลักสูตรแกนกลางขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑
    2. โรงเรียนการกุศลของวัด มีความพร้อมทางด้านอาคารสถานที่ เอื้อต่อการจัดการเรียนรู้
    3. โรงเรียนการกุศลของวัด มีคุณภาพในด้านการจัดการเรียนรู้ตามหลักไตรสิกขา
    4. นักเรียนโรงเรียนวัดเวฬุวันที่จบการศึกษาเป็นผู้มีศักยภาพ มีคุณภาพตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ.๒๕๕๑ มีศีลธรรมตามหลักพระพุทธศาสนา มีคุณธรรมจริยธรรม คิดเป็น ทำเป็น แก้ปัญหาเป็น สามารถนำความรู้มาพัฒนาตนเอง และนำไปใช้พัฒนาชุมชน สังคมและประเทศชาติ
  9. วิธีดำเนินงาน
    1. ประชุมคณะกรรมการวัดและผู้ที่เกี่ยวข้อง
    2. ขออนุมัติจัดตั้งโรงเรียนการกุศลของวัดเวฬุวันต่อมหาเถรสมาคม
    3. ขออนุญาตจัดตั้งโรงเรียนการกุศลของวัดเวฬุวันต่อสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากาฬสินธุ์เขต 24
    4. ดำเนินการรับสมัครและคัดเลือกบุคลากร วันที่ ๑๗ – ๒๔ เมษายน ๒๕๕๕
    5. ประกาศรับสมัครนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๕ วันที่ ๒๕ เมษายน ๒๕๕๕ ถึง วันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๕๕
    6. จัดประชุมครูและบุคลากรทางการศึกษาเพื่อวางแผนการจัดการเรียนการสอน
    7. ปฐมนิเทศนักเรียนและผู้ปกครองเพื่อชี้แจงและทำความเข้าใจในการจัดการศึกษาของภาคเรียนที่ ๑ ปีการศึกษา ๒๕๕๕
    8. ประชาสัมพันธ์โครงการ เพื่อขอรับการสนับสนุนด้านงบประมาณ และสร้างความร่วมมือด้านการจัดการศึกษาจากหน่วยงานภาครัฐ รัฐวิสาหกิจ เอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์กรทาง พระพุทธศาสนา มูลนิธิการกุศลต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อระดมทุนและทรัพยากรในการสนับสนุนการศึกษาอย่างต่อเนื่อง
    9. เปิดบัญชีเพื่อรับการบริจาค
      ชื่อบัญชี : “กองทุนโรงเรียนวัดเวฬุวัน” ธ.ออมสิน สาขา สหัสขันธ์
      เลขที่บัญชี : 020-058-769-207

      สามารถส่งหลักฐานการโอนเงินบริจาคเพื่อขอรับใบอนุโมทนาบัตรได้ที่ E-mail : konkomsan@yahoo.co.th
  10. งบประมาณที่คาดว่าจะใช้ดำเนินการปีที่ 1

  11. งบประมาณรายรับ
    ประกอบด้วย บาท
    1. ผู้มีจิตศรัทธาทั่วไป 4,700,000
    2. สำนักงานฉลากกินแบ่งรัฐบาล 3,300,000
    3. เงินกองทุนโรงเรียนวัดเวฬุวัน 234,869
    4. งบสนับสนุนจากรัฐบาล (ค่าจัดการเรียนการสอนรายหัว 12,909 บาท:คน:ปี ) จำนวน 80 คน 1,032,720
    รวม 9,267,589

    งบประมาณรายจ่าย
    ประกอบด้วย บาท
    1. ก่อสร้างอาคารเรียนเฉลิมพระเกียรติ 82 พรรษา คอนกรีตเสริมเหล็ก 3 ชั้น 1 หลัง 7,600,000
    2. ก่อสร้างอาคารห้องสมุด 1 หลัง 250,000
    3. ก่อสร้างอาคารโรงอาหาร 1 หลัง 350.000
    4. ก่อสร้างอาคารเรียนประกอบ 1 หลัง 300.000
    5. ค่าวัสดุครุภัณฑ์ เช่นโต๊ะ,เก้าอี้,คอมพิวเตอร์,ฯลฯ 300.000
    รวม 8,800,000

    งบดำเนินงาน (หมวดค่าใช้สอยและวัสดุ)
    ประกอบด้วย บาท
    1. จัดตั้งกองทุนโรงเรียนวัดเวฬุวัน 234,869
    2. ค่าสาธารณูปโภค 20,000 บาท/เดือน 240,000
    3. ค่าซ่อมบำรุง และอื่นๆ 20,000
    4. ค่าเสื้อผ้าชุดนักเรียน 80 คน (ชุดละ 450 บาท:คน:ปี) 36,000
    5. ค่าเสื้อผ้าชุดกิจกรรม 80 คน (ชุดละ 400 บาท:คน:ปี) 32,000
    6. ค่าหนังสือเรียน 80 คน (คนละ 699.20 บาท:คน:ปี) 55,936
    7. ค่าอุปกรณ์การเรียน 80 คน (คนละ 210 บาท:คน:ปี) เป็นเงิน 17,600
    รวม 636,405
    งบดำเนินงาน (หมวดค่าใช้สอยและวัสดุ)
    8. ค่าจ้างครู ปีที่ 1 จำนวน 7 คน 546,000
    9. ค่าตอบแทนวิทยากรภายนอก จำนวน 2 คน 76,800
    10. ค่าจ้างเจ้าหน้าที่ธุรการ จำนวน 1 คน 72,000
    11. ค่าจ้างพนักงานบริการ จำนวน 1 คน 60,000
    12. ค่าจ้างพนักงานขับรถ จำนวน 2 คน 120,000
    รวม 951,600

    งบลงทุน (ครุภัณฑ์และสิ่งก่อสร้าง)
    ประกอบด้วย บาท
    1. ค่าก่อสร้างอาคารเรียน 3 ชั้น 7 ห้องเรียน 1 หลัง 7,600,000
    2. ค่าก่อสร้างอาคารเรียนเสริม 1 ชั้น 1 หลัง 500,000
    3. ค่าก่อสร้างโรงอาหาร 1 ชั้น 1 หลัง 550,000
    4. ค่าสร้างอาคารห้องสมุด 1 ชั้น 1 หลัง 350,000
    5. ค่าวัสดุครุภัณฑ์ เช่นโต๊ะ,เก้าอี้,คอมพิวเตอร์,ฯล 650,000
    6. ห้องน้ำ/ห้องส้วม 2 หลัง รวม 18 ที่ 350,000
    รวม 10,000,000

  12. ระยะเวลาดำเนินการ
  13. เดือน มิถุนายน ๒๕๕๔ ถึงเดือน มีนาคม ๒๕๕๕

  14. ผลที่คาดว่าจะได้รับ
    1. ประชากรวัยเรียนและประชาชนในตำบลนิคมได้รับการพัฒนา เป็นคนดี มีความรู้และมีคุณธรรมจริยธรรม
    2. ประชากรวัยเรียนทุกคนทั้งในและนอกเขตพื้นที่ตำบลนิคมได้รับการศึกษาอย่างเสมอภาค มีคุณภาพและทั่วถึง
    3. โรงเรียนจัดการศึกษาสนองตอบกับความต้องการของชุมชน สอดคล้องกับวิถีสังคม วัฒนธรรมท้องถิ่นและความเป็นสากล
  15. ดัชนีชี้วัด
    1. นักเรียนรุ่นแรกสำเร็จการศึกษาในปี ๒๕๖๑ ร้อยละ ๙๕
    2. นักเรียนที่จบการศึกษาสามารถดำเนินชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ร้อยละ ๑๐๐
    3. นักเรียนที่จบได้นำความรู้ไปใช้ประโยชน์ ร้อยละ ๑๐๐
    4. นักเรียนที่จบแล้วสามารถเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น ร้อยละ ๘๐

กลับขึ้นบน^